วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การเขียนโครงการความปลอดภัย

ตัวอย่างการเขียนโครงการความปลอดภัย


 



 

เป็นตัวอย่างจากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ ซึ่งผมเห็นว่าหากนำมาโพสลงในเว็บ น่าจะเพิ่มความสะดวกในการค้นหาข้อมูล เพราะหลายท่านคงไม่ได้พกหนังสือไปกลับระหว่างที่ทำงาน กับที่พัก ทุกๆวัน

ตัวอย่างการเขียนโครงการความปลอดภัย

ในการจัดทำแผนงานโครงการความปลอดภัย จะประกอบไปด้วยโครงการความปลอดภัยย่อยๆหลายโครงการมาประกอบกัน ซึ่งในแต่ละโครงการย่อยจำเป็นต้องเขียนรายละเอียดของแต่ละโครงการเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารของสถานประกอบการ เพื่อขออนุมัติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการเขียนโครงการ ตัวอย่างการเขียนโครงการมีดังนี้

โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานในแผนก …………………………….

1. ความเป็นมาและสภาพปัญหา
จากสถิติการประสบอันตรายจากการทำงาน ซึ่งรวบรวมไว้ พบว่า การประสบอันตรายของบริษัทยังอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งบริษัทได้มีการตั้งเป้าหมายให้มีการลดการประสบอันตรายจากการทำงานลงให้ได้อย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินงานการบริหารจัดการเพื่อลดสถิติการประสบอันตรายดังกล่าวพบว่า แม้บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงกฏระเบียบ ข้อบังคับ ในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ดำเนินการปรับปรุงสถานที่ทำงานให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ดำเนินการซ่อมบำรุงเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ และมีการกำกับดูแลให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงาน ได้ทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วนแล้ว แต่ยังปรากฏว่าสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของบริษัทยังคงไม่ลดลงตามเป้าหมายที่วางไว้ และจากการสอบสวนวิเคราะห์อุบัติเหตุแล้ว พบว่า สาเหตุของการประสบอันตราย ส่วนใหญ่มาจากการกระทำของพนักงานประมาณ 80 เปอร์เซ้นต์ ดังนั้นจึงควรได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมเสี่ยงของพนักงาน ควบคู่ไปกับกิจกรรมต่างๆที่บริษัทได้จัดทำขึ้นเพื่อลดสถิติการประสบอันตรายดังกล่าวข้างต้น

2. หลักการเหตุผล
จากการศึกษาข้อมูลระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยในการทำงานของต่างประเทศพบว่า การบังคับให้พนักงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏระเบียบ หรือมาตรฐานความปลอดภัย ยังไม่เพียงพอต่อการที่จะลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องมีการให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัยประกอบด้วย เป็นการใช้กลยุทธในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ ประกอบการปลูกจิตสำนึกรักความปลอดภัย เพื่อให้สามารถจัดระบบบริหารจัดการให้เหมาะกับประเภทของความเสี่ยงและปัญหาที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงานของบริษัทได้ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานความปลอดภัยจะเป็นผู้ให้ความรู้ และคำแนะนำในการดำเนินการ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง เป็นการจัดการด้านความปลอดภัยด้วยการปลูกฝังพฤติกรรมการทำงานที่ถูกต้อง และความปลอดภัย โดยมีกระบวนการตั้งแต่ค้นหาพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานและดำเนินการปรับปรุงให้พนักงานมีการเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ปลอดภัยขึ้น พร้อมทั้งส่งเสรอมให้มีการนำพฤติกรรมความปลอดภัยที่ดี มาปฏิบัติกันจนเป็นวัฒนธรรมของบริษัท

3. วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อลดพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และเพิ่มพฤติกรรมที่ปลอดภัยในการทำงาน
3.2 เพื่อลดสถิติการประสบอัรตรายจากการทำงาน
3.3 เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ปลอดภัยให้เป็นนิสัย

4. กลุ่มเป้าหมาย
4.1 พนักงานจากหน่วยงานที่มีการประสบอันตรายสูง
4.2 พนักงานทุกระดับของบริษัท

5. วิธีดำเนินการ
5.1 ฝึกอบรมผู้บริหารให้เข้าใจความจำเป็นในการปรับพฤติกรรมเสี่ยง
5.2 วิเคราะห์หาพฤติกรรมเสี่ยงที่มีอยู่ในสถานประกอบกิจการ โดยผู้บริหารและคณะกรรมการความปลอดภัยฯ
5.3 ฝึกอบรมและร่วมกันค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง โดยหัวหน้าหน่วยงานและผู้แทนหน่วยงานที่เป็นเป้าหมาย
5.4 รวบรวมจัดทำทะเบียน จัดเรียงลำดับ และคัดเลือกพฤติกรรมเสี่ยงที่จะปรับเปลี่ยน
5.5 อบรมสื่อสารให้พนักงานทุกคนทราบและเข้าใจพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
5.6 อบรมฝึกสังเกตและการกำชับเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมปลอดภัยและแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยง
5.7 ทีมตรวจสอบทำการวัดผลเป็นระยะๆ
5.8 ดำเนินการกับพฤติกรรมเสี่ยงตัวต่อไปจนกว่าจะหมด

6. กำหนดระยะเวลาและแผนการดำเนินงาน
ดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี พ.ศ. 2550 – 2552 โดยมีแผนงานสำหรับปีแรก (2550) ดังนี้
กำหนดระยะเวลาดำเนินการโครงการความปลอดภัย

7. งบประมาณ
งบประมาณในการดำเนินงาน จากงบประมาณปี 2550 งานความปลอดภัย อาชีวิอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นเงิน 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
8.1 สามารถลดมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการประสบอันตรายจากการทำงาน
8.2 ทำให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ส่งผลทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณเพิ่มมากขึ้น
8.3 สามารถลดการประสบอันตรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
8.4 ภาพลักษณ์ของบริษัทเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

9. ผู้เสนอโครงการ

(นายสำนึก รักษ์ปลอดภัย)
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการความปลอดภัยฯ

10. หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ

ฝ่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

11. ผู้อนุมัติโครงการ

(นายรวย มากคุณธรรม)
กรรมการผู้จัดการบริษัท เซฟตี้เฟิร์ส จำกัด

__________________________

จากตัวอย่างข้างต้น ก็คงจะเป็นแนวทางให้เพื่อนๆเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกท่าน เขียนโครงการความปลอดภัยในการทำงานกันได้สะดวกขึ้น และก็นำโครงการย่อยๆทั้งหมดไปจัดทำเป็นแผนงานประจำปีของบริษัท เป็นอันเสร็จสิ้นหน้าที่การทำแผนงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน


 

Tagged with:

Filed under:Safet Officer : เกี่ยวกับ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานUncategorized

Like this post? Subscribe to my RSS feed and get loads more!

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น